HOUSE (FAQs)

จะสร้างบ้านทั้งที จ้างสถาปนิกดีไหม
akas-architects_stories_inthamara_study-2
akas-architects_projects_inthamara-house-3

ขอแบ่งเป็นคำถาม-ตอบ ดังนี้


1.สถาปนิกจำเป็นจริงๆหรือ?
ตอบ: เมื่อเจ้าของบ้านต้องการจะสร้างบ้านซักหลังนึง
ในทางกฎหมาย บ้านหรืออาคารโดยส่วนใหญ่จะต้องมีสถาปนิก, วิศวกรเป็นผู้ออกแบบและเซ็นรับรอง เพื่อขออนุญาตก่อสร้างกับเทศบาลในท้องที่นั้น (ยกเว้นบ้านพักอาศัยขนาดไม่เกิน 150ตร.ม.ในบางท้องที่ ที่ไม่ต้องมีสถาปนิกและวิศวกรเซ็นรับรอง)
โดยเจ้าของบ้านสามารถว่าจ้างสถาปนิกและวิศวกรให้ทำงานออกแบบให้ แล้วค่อยคัดสรรผู้รับเหมามาเปรียบเทียบราคา หรือจะว่าจ้างผู้รับเหมาที่มีทีมงานสถาปนิกและวิศวกรเขียนแบบให้ก็ได้เช่นกัน


2.จ้างสถาปนิกคุ้มรึเปล่า?

ตอบ: การมีสถาปนิกทำงานออกแบบให้ นอกจากจะได้บ้านที่มีพื้นที่ใช้สอย, หน้าตาและบรรยากาศตามที่คุณต้องการแล้ว สถาปนิกจะจัดทำแบบก่อสร้างตามรายละเอียดที่ออกแบบไว้ให้ ซึ่งคุณสามารถนำแบบก่อสร้างนี้ไปใช้ในการเปรียบเทียบราคาและคัดสรรผู้รับเหมาได้ ยิ่งอาคารหรือโครงการมีขนาดใหญ่ ก็ยิ่งช่วยรักษาผลประโยชน์ของเจ้าของโครงการได้มาก

หากคุณอยากรู้ว่าสถาปนิกคิดราคาค่าออกแบบยังไง
ขอให้คุณลองอ่าน “ค่าออกแบบสถาปนิกแพงมั้ย”



3.จ้างสถาปนิกดีไหม

ตอบ: เราขออนุญาตตอบเป็นข้อดี ข้อเสีย ดังนี้

หากคุณจ้างสถาปนิก
ข้อดี : ได้งานตรงตามความต้องการของคุณ, สถาปนิกจะช่วยประเมินงบให้คุณได้, คุณมีแบบในมือ ทำให้คุณสามารถเอาแบบไปให้ผู้รับเหมาตีราคาได้หลายเจ้า
ข้อเสีย : คุณต้องวางแผนให้โครงการมีระยะเวลาสำหรับการออกแบบในขั้นตอนต่างๆเผื่อไว้ด้วย เพราะสถาปนิกจะต้องนำเสนอแนวคิดด้านการออกแบบ พูดคุยและสื่อสารถึงการใช้งานที่คุณต้องการอย่างละเอียด รวมถึงมองหาวัสดุที่เข้ากับงบประมาณและรสนิยมของคุณด้วย

หากคุณจ้างผู้รับเหมาโดยตรง
ข้อดี
 : เหมาะสำหรับโครงการที่ต้องการความรวดเร็ว หรือต้องการอาคารแบบมาตรฐาน ไม่ได้มีความต้องการพื้นที่ใช้สอยหรือหน้าตาอาคารที่พิเศษ ผู้รับเหมาสามารถให้สถาปนิกและวิศวกรเขียนแบบให้ได้เลย ซึ่งคุณจะไม่ต้องปวดหัวในการประสานงาน สามารถคุยกับผู้รับเหมาคนเดียวได้เลย
ข้อเสีย : คุณจะเสียโอกาสในการนำแบบไปเปรียบเทียบราคากับผู้รับเหมาเจ้าอื่น และขาดทีมงานที่จะช่วยให้คำปรึกษาเรื่องราคาและคุณภาพงานของผู้รับเหมาได้ เนื่องจากคุณไม่ได้พูดคุยเรื่องวัสดุโดยละเอียดเหมือนเวลาที่คุณว่าจ้างสถาปนิก บางครั้งจึงต้องมีการปรับแก้แบบและวัสดุที่หน้างาน ซึ่งอาจทำให้งบประมาณบานปลายกว่าที่คาดไว้ได้

ทั้งนี้ทั้งนั้น หากคุณตั้งใจจะจ้างสถาปนิกจริงๆ คุณควรเริ่มจากพูดคุยทำความเข้าใจกับสถาปนิกก่อนว่าเค้ามีลักษณะการทำงานอย่างไร สื่อสารกับคุณมากน้อยแค่ไหน ออกแบบและเขียนแบบก่อสร้างโดยละเอียดแค่ไหน ต้องใช้ระยะเวลาในการทำงานเท่าไหร่ เพราะสิ่งเหล่าเองก็เป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อค่าบริการของสถาปนิกเช่นกัน


หากคุณอยากรู้ว่าสถาปนิกแบบเราทำงานกันยังไง
ขอให้คุณลองอ่าน “ขั้นตอนการทำงานของสถาปนิก”



AKAS's team

ปล. ข้อมูลดังกล่าวผู้เขียนอ้างอิงจากประสบการณ์ที่ผ่านมาเป็นเกณฑ์ เพื่อเป็นความรู้ให้กับทุกคน ทั้งนี้อาจคลาดเคลื่อนได้ เนื่องจากเขตการปกครองบางแห่งจะมีกฎหมายเฉพาะที่ที่ใช้เฉพาะพื้นที่นั้นๆ รวมทั้งเทศบาลบางแห่งอาจแตกต่างไปจากเทศบาลอื่นๆ ขอให้ทุกคนพึงพิจารณาและนำไปใช้เป็นแนวทางในการประเมินเบื้องต้นเท่านั้น และโปรดปรึกษากับสถาปนิก, วิศวกร หรือผู้รับเหมาที่ท่านจะร่วมงานด้วยอีกครั้ง