ARCHITECT (FAQs)

สถาปนิก นักออกแบบภายใน มัณฑนากร และ ภูมิสถาปนิก ต่างกันอย่างไร

สถาปนิกคือผู้ที่เกี่ยวข้องในการออกแบบและวางแผนในการก่อสร้าง หรือที่เรียกว่างานสถาปัตยกรรม โดยสถาปนิกจะเป็นผู้ที่เข้าใจในมาตรฐานการก่อสร้างของอาคาร เข้าใจถึงหน้าที่ใช้สอยของอาคารนั้น รวมถึงวัสดุที่จะนำมาเป็นส่วนประกอบของสิ่งก่อสร้างนั้น โดยสถาปนิกจำเป็นต้องได้รับการศึกษาทางสถาปัตยกรรมศาสตร์ และได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรม ถึงจะสามารถทำงานในวิชาชีพสถาปนิกได้

ข้อมูลเกี่ยวกับ “ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรม”


ที่จริงแล้วสถาปนิกเองก็มีสายงานแยกย่อยออกมาตามแนวการศึกษาหลักเช่นกัน ซึ่งแยกย่อยได้ ดังนี้

สถาปนิกหลัก จบการศึกษาด้านสถาปัตยกรรมหลัก เน้นการออกแบบบ้านและอาคาร โดยเริ่มออกแบบตั้งแต่การวางผังอาคารลงบนที่ดิน
สถาปนิกภายใน / อินทีเรีย จบการศึกษาด้านสถาปัตยกรรมภายใน เน้นการออกแบบตกแต่งภายในเป็นหลัก
มัณฑนากร จบการศึกษาด้านมัณฑนศิลป์ เน้นการออกแบบตกแต่งภายใน แตกต่างจากอินทีเรียตรงคณะและสาขาทางการศึกษา แต่ในเชิงการประกอบวิชาชีพนั้นคล้ายคลึงกัน
ภูมิสถาปนิก จบการศึกษาด้านภูมิสถาปัตยกรรม เน้นการออกแบบสวน, พื้นที่สีเขียว

นอกจากนี้ก็ยังมี สถาปนิกผังเมือง และสาขาวิชาอื่นๆแตกแขนงไปอีก เช่น สถาปัตยกรรมศาสตร์ สาขาการออกแบบอุตสาหกรรม เป็นต้น


จะเห็นได้ว่า ภายใต้คำเรียก “สถาปนิก” เองก็มีสายงานที่แตกต่างกัน การมีผู้ที่ถนัดในสายงานต่างๆ จะช่วยให้ได้งานที่มีคุณภาพ สำนักงานออกแบบหลายแห่ง จึงมักมีสถาปนิกหลักและอินทีเรียทำงานร่วมกัน หรือทำงานร่วมกันระหว่างสำนักงานจนทำงานประสานกันได้ดี